ศรีสะเกษ เจอพิษโควิด ปีนี้ยกเลิกจัดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์เพิ่มช่องทางการตลาดทุเรียนภูเขาไฟออนไลน์

     วันนี้ (๙ มิ.ย.๖๔) นายวัฒนา  พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ทุก ๆ ปี จังหวัดศรีสะเกษจะกำหนดจัดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ในช่วงกลางเดือน มิถุนายน ณ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดมากที่สุด แต่ในปีนี้เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ทั้งในประเทศและทั่วโลก คณะกรรมการจัดงานได้มีการประชุมประเมินสถานการณ์ในการจัดงาน มีมติให้ยกเลิกการจัดงานเทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ประจำปี ๒๕๖๔ เพื่อเป็นการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ โดยให้ดำเนินการเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เกี่ยวกับเอกลักษณ์เฉพาะ และความโดดเด่นของทุเรียนภูเขาไฟ รวมทั้งการจำหน่ายทุเรียนในช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นทางเลือกให้เกษตรกร สามารถบริหารจัดการสินค้าในช่วงวิกฤต สร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าให้กับผู้บริโภค 

 

 

       จังหวัดศรีสะเกษ จึงได้จัดแถลงข่าว ประชาสัมพันธ์เพิ่มช่องทางการตลาดทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ขึ้น ณ สวนแสงสว่าง (นายวิราธ  กองแก้ว) บ้านหนองเก่า หมู่ ๑๐ ตกลบพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนายวิชัย  ศรีโพธิ์งาม เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ  ได้กล่าวถึงสถานการณ์ การผลิตทุเรียนภูเขาไฟ และผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ๑๙ ซึ่งปีนี้ทุเรียนภูเขาไฟ มีพื้นที่ปลูก ๘,๕๕๒ ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว ๓,๕๒๗ ไร่ ยังไม่ให้ผลผลิต ๕,๐๒๕ ไร่  คาดการณ์ปริมาณผลผลิตไว้ที่ ๔,๑๙๕.๕ ตัน  โดยมีผลผลิตเฉลี่ย ๑,๑๙๐ กิโลกรัมต่อไร่ ราคาจำหน่ายปลีกหน้าสวน ๑๖๐-๑๘๐ บาท ราคาตลาดกิโลกรัมละ ๑๘๐-๒๐๐ บาท  คาดว่าจะสร้างรายได้มูลค่า ๗๑๓.๒๓ ล้านบาท  ซึ่งผลผลิตในปี ๒๕๖๔ นี้ คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดแบ่งเป็นหลายรุ่น เริ่มตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ไปจนถึงเดือน สิงหาคม ๒๕๖๔

 

 

      ด้านนายสฤษฎ์  นาควารินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงช่องทางในการสั่งซื้อทุเรียนออนไลน์ว่า ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ๑๙ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษได้ นักชิมทุเรียนสามารถสั่งซื้อทุเรียนภูเขาไฟคุณภาพได้ผ่านทาง เว็บไซต์ lavadurian.com ซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้บริการแล้ว  ในขณะที่ด้านการขนส่ง จังหวัดศรีสะเกษ ได้จับมือกับไปรษณีย์ไทย จัดทำ MOU ส่งตรงทุเรียนภูเขาไฟ สู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยนายรุ่งเรือง  รัตนผล ผู้จัดการฝ่ายไปรษณีย์เขต ๑๐  กล่าวว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด  ได้อำนวยความสะดวกให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ที่มีช่องทางการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ ได้จัดส่งทุเรียนให้กับผู้สั่งซื้อ ด้วยความรวดเร็ว ตรงตามมาตรฐาน ที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย กำหนด ไปยังผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๔ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ รวม ๓ เดือน ด้วยระบบไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ในประเทศ และเพิ่มความระมัดระวังไม่ให้ทุเรียนได้รับความเสียหายในขั้นตอนการจัดส่งจนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งเบื้องต้นได้ประสานส่งมอบทุเรียนภูเขาไฟจากเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ร่วมกัน จำนวน ๑๐ ตัน โดยเริ่มส่งมอบในวันที่ ๙ มิถุนายน นี้

 

 

     นอกจากนี้ จังหวัดศรีสะเกษ ยังได้มีไฮไลท์ เปิดตัวครั้งแรก สุดยอดทุเรียนภูเขาไฟ “พันธ์ศรีสะเกษ ๒๓๘”  โดยนายธวัชชัย  นิ่งกิ่งรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ เปิดเผยว่า จากการศึกษาวิจัยของพืชสวนศรีสะเกษ กว่า ๕ ปี ได้ทำการค้นหาอัตลักษณ์ของทุเรียนพันธ์ุใหม่นี้ พบว่า ทุเรียนมีเปอร์เซนต์เนื้อทุเรียนสูงกว่าหมอนทอง เนื้อสัมผัสแตกต่างจากพันธ์ุเดิม มีความเป็นมันวาว กรอบกว่า เนื้อแน่นกว่า เก็บได้นาน ไม่เละ สีสม่ำเสมอ รสชาดโดดเด่น แตกต่างจากทุเรียนภูเขาไฟ รสชาดเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง จังหวัดศรีสะเกษ ตั้งชื่อทุเรียนพันธุ์นี้ว่า  “ทุเรียนพันธุ์ศรีสะเกษ ๒๓๘”  ซึ่งได้ทำการเปิดตัวในช่วงงานเฉลิมฉลอง ๒๓๘ ปี จังหวัดศรีสะเกษ

 

 

    และปิดท้ายการแถลงข่าวด้วย กิจกรรมการท่องเที่ยววิถีใหม่ เที่ยวสวนทุเรียนภูเขาไฟแบบ new normal โดยนายอนุรัตน์  ธรรมประจำจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และนางสาวธมนวรรณ  เจริญวงศ์พิสิฐ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ ได้กล่าวว่า การท่องเทียวสวนทุเรียนในปีนี้ นอกจากจะเน้น ความสุข ความสนุกและประทับใจแล้ว ยังต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ ด้วยการยึดแนวทางตามหลัก social Distancing อย่างเคร่งครัด เช่น การใส่หน้ากากตลอดเวลา พกเจลแอลกอฮอล์ ล้างมือ และเว้นระยะห่างในระหว่างการท่องเที่ยว ใช้จ่ายเงินผ่านมือถือแทนเงินสดเพื่อลดการสัมผัสระหว่างคน ที่สำคัญและห้ามมองข้าม คือ การเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่บริการที่ดี ได้มาตรฐานความปลอดภัย ด้านสุขอนามัย ซึ่งสามารถสังเกตุได้ง่าย โดยดูจากตราสัญญลักษณ์ SHA หรือมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขง

 

     

สุพิชัย  หล่าสกุล  ปชส.ศรีสะเกษ / ข่าว
ฉัตรชัย  พรหมมาศ / ถ่ายภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษ ๙ มิ.ย. ๖๔


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar