จังหวัดศรีสะเกษ จัดกิจกรรม "ศรีสะเกษพร้อมใจ นุ่งผ้าไทยใส่บาตร ทำความดี วิถีพอเพียง "

            วันพุธที่ 27 มีนาคม 2567  เวลา 07.00 น. ณ บริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา เกาะห้วยน้ำคำ ตำบลหนองครก อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ  นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานในกิจกรรม "ศรีสะเกษพร้อมใจ นุ่งผ้าไทยใส่บาตร ทำความดี วิถีพอเพียง" ตามโครงการรณรงค์แต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในทุกวันพุธของสัปดาห์ 

                จังหวัดศรีสะเกษ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมของจังหวัดศรีสะเกษ ให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย ซึ่งมีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ และสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของพี่น้องชาวจังหวัดศรีสะเกษ ประกอบกับการน้อมนำแนวพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้นำเอาองค์ความรู้ทางวิชาการสมัยใหม่มาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์และพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทยให้สอดคล้องกับกระแสความนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ผ่านการส่งเสริมการใช้ และสวมใส่ผ้าไทยตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” การส่งเสริมการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติลดการใช้สารเคมี เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยบนพื้นฐานการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพระราชทานแบบลายผ้าพระราชทานให้แก่กลุ่มทอผ้าและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย รวมถึงงานหัตถกรรมของจังหวัดศรีสะเกษ ได้รับการพัฒนา ต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มทอผ้าและประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อให้ประชาชนได้รับโอกาสที่ดีของชีวิตอย่างยังยืน  ทั้งยัง ส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง รวมทั้งใช้วัสดุจากธรรมชาติ ซึ่งภายในกิจกรรมได้มีการจำหน่ายสินค้าอาหารและ OTOP จากกลุ่มผู้ประกอบการประกอบด้วย กลุ่มผู้ผลิตผ้าแส่ว ผ้าทอมือ ผ้าพื้นเมือง อาหารพื้นถิ่น การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น และผลิตภัณฑ์กาแฟโรบัสต้าศรีสะเกษ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการใช้จ่ายและเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เสริมสร้างความเข้มแข็ง และเจริญเติบโตของเศรษฐกิจฐานราก  โดยการจำหน่ายสินค้า OTOP ประเภทต่างๆ รวมทั้งผ้าพื้นเมือง “เบญจศรี” อันเป็นอัตลักษณ์ที่มีกรรมวิธีทางธรรมชาติ มียอดจำหน่ายในงานประจำวันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 มียอดรวมทั้งหมดสิ้น 60,300 บาท  และมียอดรวมในการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP ตั้งแต่ เดือนมกราคม 2563 ถึง มีนาคม 2567 รวมทั้งสิ้น 12,736,190 บาท

                จากนั้น ผ้ว่าราชการจังหวัด ได้ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 9 รูป โดยได้รับความเมตตาจาก พระครูวิจิตรสุนทรธรรม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเจียงอีศรีมงคลวราราม พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นอกจากจะเป็นการร่วมทำบุญแล้วยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และการสงเคราะห์เพราะสิ่งของพระคุณเจ้าจะแบ่งมอบให้จังหวัดนำไปสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสตามหมู่บ้านทั้งจังหวัดด้วย
      
                 ในโอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มอบใบประกาศ แก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกแต่งกายด้วยผ้าไทย และผ้าพื้นเมืองสวยงาม การใช้วัสดุทำจากธรรมชาติที่สวยงาม รวมทั้งประเภททีม ประจำวันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 ประกอบด้วย นางพิกุล โสศรีสุข ผู้ได้รับการคัดเลือกแต่งกายด้วยผ้าไทย และผ้าพื้นเมืองสวยงาม นางสาวเพ็ญนภา ยางนอก ผู้ได้รับการคัดเลือกใช้วัสดุทำจากธรรมชาติที่สวยงาม และเทศบาลตำบลโคกจาน อำเภออุทุมพรพิสัย ได้รับการคัดเลือกการแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองสวยงามประเภททีม  โดยในวันพุธนี้บรรเลงดนตรีไทยประกอบโดยวงดนตรีไทย จากโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย

                โดยมี นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม นายชัยยงค์ เมธาสุรวิทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอยางชุมน้อย กรรมการ/สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารองค์กรเอกชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนเป็นจำนวนมากเข้าร่วมพิธีทำบุญตักบาตร

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษ


image รูปภาพ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar